5 เดือนผ่านไปที่ไม่ได้ลงบทความใหม่ แต่มีความเคลื่อนไหวในเพจ Plants Mania ตลอดเวลานะครับ…
หลังจากที่ออก “หนังสือบัวดีเด็ดที่อัพเดทที่สุดในโลก” ไปกับสำนักพิมพ์บ้านและสวน เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม นาย Fiyero คนเดิมก็ขอกลับมาทำหน้าที่นำเสนอต้นไม้ดอกไม้ในบ้านให้ชาวบล็อกที่น่ารักได้รู้จักกันเพิ่มเติมอีกหนึ่งชนิด
เคราฤๅษีแคระ – Strophanthus petersianus
สวย แรร์ ตามสไตล์ Akitia.com แน่นอนครับ ตามมาอ่านต่อกันเล้ย…
แม้หลาย ๆ ท่านจะไม่เห็นหรือรู้จักต้นนี้ แต่จริง ๆ แล้วในตลาดไม้ดอกประดับบ้านเรา ก็มีไม้ประดับในสกุล Strophanthus อยู่หลายตัวเลย ทุกต้นในสกุลนี้ล้วนมียางที่เป็นพิษทั้งสิ้น…
เคราฤๅษีแคระ – Strophanthus petersianus
ในท้องถิ่น ชาวพื้นเมืองใช้ยางและเมล็ดของต้นนี้ และญาติ ๆ ในสกุลเดียวกันเป็นส่วนประกอบในการทำยาพิษเข้มข้ม ไว้ชุบลูกศรในการล่าสัตว์ในสมัยก่อนด้วยนะครับ
สวยประหาร สวยพิฆาต จริงอะไรจริงนะออเจ้า… ร้ายเหลืออย่างแม่การะเกดเมื่อสมัยก่อนโดนมนต์กฤษณะกาลีก็ไม่ปาน
เคราฤๅษีแคระ – Strophanthus petersianus
สำหรับญาติสนิทของสาวสวยสังหารของเราวันนี้ ที่เจอกันได้เรื่อย ๆ ก็อย่างเช่น ยางน่องเถา (S. caudatus) แย้มปีนังหรือบานทน (S. gratus) เคราฤๅษี (S. preussii) มังกรแดง (S. wallichii) และยังมีอีกกว่า 40 ชนิดจากทั่วโลกที่กระจายกันตามบ้านนักสะสม ที่บ้านนาย Fiyero ยังมีอยู่อีกหลายตัว ไว้ให้ดอกงาม ๆ เมื่อไหร่ จะพามาให้ได้ยลโฉมกันทันทีครับ
เคราฤๅษีแคระ – Strophanthus petersianus
สำหรับ เคราฤๅษีแคระ ที่มาให้ได้รู้จักกันในวันนี้ มีชื่อเสียงเรียงนามเป็นภาษาปะกิดว่า Sand Forest Poison Rope
โดยชื่อสกุลนั้น มีรากศัพท์จากคำกรีก stróph(os) แปลว่า twine หรือ twisted cord ผสมกับคำว่า ánthos แปลว่า flower
เคราฤๅษีแคระ – Strophanthus petersianus
รวม ๆ แล้ว ชื่อสกุล Strophanthus จึงมีความหมายว่าดอกที่มีสายบิด ๆ ซึ่งก็เห็นได้ชัดจากวงกลีบดอกที่อยู่ถัดจากชั้นกลีบเลี้ยงเข้าไป ยาวและบิดพลิ้ว
ส่วนคำระบุชนิด petersianus นั้น ได้มาจากนามสกุลของ Professor Wilhelm Peters (1815-1863) แห่งเมือง Berlin ผู้เก็บตัวอย่างพันธุ์ในประเทศโมซัมบิกช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โน่นเลยครับ
เคราฤๅษีแคระ – Strophanthus petersianus
เคราฤๅษีแคระ นั้นพบกระจายอยู่ในทวีปแอฟริตะวันออกตั้งแต่เคนยาไล่ลงมาถึงแอฟริกาใต้ ต่างจาก เคราฤๅษี ตัวที่พบปลูกทั่วไปในบ้านเรา ที่ต้นกำเนิดนั้นพบในทวีปแอฟริกาตะวันตกถึงแอฟริกากลาง ทั้งคู่เป็นไม้เลื้อยขนาดเล็ก และปลายกลีบดอกยาวสลวย พลิ้วตามแรงลมได้เช่นเดียวกันครับ
เคราฤๅษีแคระ – Strophanthus petersianus
เคราฤๅษีแคระ นั้น ไม่ได้เล็กแค่ลำต้น ดอกก็ยังเล็กตามไปด้วย โดยดอกมักมาอย่างโดดเดี่ยวเดียวดายที่ปลายยอด หรืออย่างมากก็มีเพื่อนมาอีก 1-2 เพียงเท่านั้น ถ้าเป็นคนคงเหงาน่าดูนะครับ >.<
แค่เพียงแผ่นฟ้าที่ว่างเปล่า ยังทำให้มีน้ำตา ทำไมมันช่างเปราะบาง เหลือเกิน อ่อนแอจนเกินจะเข้าใจ – พี่ตูนกล่าวไว้
เคราฤๅษีแคระ – Strophanthus petersianus
ใบก็มีขนาดเล็กครับ สำหรับบางต้นที่พบในป่านั้น ใบอาจหนานุ่มเพราะมีขนสั้นๆขึ้น แต่หลาย ๆ ต้นก็เรียบเกลี้ยง อันนี้เป็นความหลากหลายที่พบได้ทั่วไปจากการเพาะเมล็ด บางต้นอาจจะกะจิดริดน่ารักน่าเลิฟแบบในบทความ แต่บางต้นก็สามารถใหญ่โตมโหฬาร เป็นไม้เลื้อยขนาดกลาง เลื้อยไปไกลกว่า 15 เมตรได้เลยก็มีเช่นเดียวกัน
เคราฤๅษีแคระ – Strophanthus petersianus
เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้ว เป็นไม้ที่ขึ้นแถบโขดหินในป่าผลัดใบและแห้งแล้ง จึงทนสภาพแดดจัด ๆ แบบบ้านเราได้เป็นอย่างดี ขาดน้ำขาดปุ๋ยนาน ๆ ก็โนสนโนแคร์ โตได้ งามได้ มีดอกได้เหมือนเดิมครับ เอ้า ปรบมือ !!!
เคราฤๅษีแคระ – Strophanthus petersianus
มาถึงส่วนที่หลาย ๆ คนรอคอย หอมมั้ย… ครับ หอมครับ ! แต่เคราฤๅษีแคระนั้นจะหอมเพียงช่วงเช้า ๆ นะครับ พอตกบ่ายคล้อยจนสายัณห์ย่ำสนธยา ก็หามีกลิ่นแล้วไม่ขอครับแม่นาย
เคราฤๅษีแคระ – Strophanthus petersianus
เช่นเดียวกับต้นอื่น ๆ ในสกุล Strophanthus ต้นนี้สามารถขยายพันธุ์ด้วยการชำและตอน แต่ต้นที่บ้านเกิดจากการเพาะเมล็ดนะครับ หลายปีเลยกว่าจะยอมให้ดอก แต่ก็คุ้มที่จะรอ ถ้ามันเป็นบุพเพสันนิวาสให้เราได้คู่กัน ยังไงเราก็ต้องได้คู่กัน… จริงไหมครับ
เคราฤๅษีแคระ – Strophanthus petersianus
1 comments On เคราฤๅษีแคระ – Strophanthus petersianus
Pingback: คอร์กสกรู – Strophanthus boivinii - aKitia.Com ()