งานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร.9 (2015) – Suan Luang Fair

สวีดัส สวัสดีครับ _/|\_

ยังจำกันได้อยู่มั้ยน้า ย้อนไปก็หลายปีอยู่ในยุคเฟื่องฟูของบล็อกต้นไม้ดอกไม้เล็กๆบล็อกหนึ่ง ก่อตั้งและเขียนบทความอย่างต่อเนื่องโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐตัวเล็กๆน่ารักๆคนนึงที่มีใจรักในการปลูกไม้สวยไม้น่าสะสมตามสไตล์ความชื่นชอบส่วนตัว ชีวิตเริ่มพลิกผันเมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงานในบริษัทเอกชนสัญชาติเกาหลีแห่งนึงกลางเมืองหลวงที่แสนจะแออัดและวุ่นวาย เปลี่ยนเลยจริงๆนะครับ เวลาที่เคยมีให้กับสิ่งที่ตัวเองรักก็ถูกลดทอนไปตามหน้าที่การงานและแรงกดดันหลายๆอย่างในสังคม เมื่อมาเขียนบทความอีกครั้ง มองย้อนกลับไปก็พบแต่ความทรงจำดีๆ ปลื้มใจที่ได้รู้จักกับมิตรภาพที่มาจากหลากหลายมุมทั้งในไทยและต่างประเทศ หลายๆคนที่รู้จักกันจากทางบล็อก ก็กลายเป็นเพื่อนเป็นพี่ที่สนิทสนมไปมาหาสู่กันเป็นประจำ แลกต้นไม้และดูแลกันมาตลอด นี่ก็ก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 (กว่าๆ) ของบล็อกนี้แล้ว นาย Fiyero คนเดิมจะกลับมาทักทายกันให้บ่อยขึ้นนะครับ… สัญญาครับ

016

เมื่อ 5 ปีก่อน — ไวมากจนน่าตกใจ — นาย Fiyero ได้มีโอกาสพาเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่น่ารักของเราไปเยือนงานต้นไม้ที่นักปลูกนักสะสมต่างตั้งตารอคอยกันทุกปี งานที่สวนต้นไม้ต่างๆจะงัดไม้เด็ดมาอวดโฉมกันทุกครั้ง ปีนี้จะมีอะไรโดนใจวัยโจ๋อย่างนาย Fiyero และทีมงานบ้าง ตามมาชมกันได้เลยนะคร้าบ…

งานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร.9 เป็นงานต้นไม้ประจำปีที่มีการประดับตกแต่งสวนสาธารณะขนาดยักษ์ของกรุงเทพมหานครด้วยต้นไม้ดอกไม้นานาพรรณ สำหรับปีนี้ งานเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมจนถึงวันที่ 10 ธันวาคม นับเป็นครั้งที่ 28 แล้วและยังมีการเปิดซุ้มขายต้นไม้และอุปกรณ์จัดสวนเช่นเดิม บริเวณสนามราษฎร์ (ประตูเฟื่องฟ้า) ตามแผนที่ด้านล่างเลยนะครับ

suan

แหล่งข้อมูล: http://www.suanluangrama9.or.th/

ถ้าใครสนใจ สามารถตามคลิกเข้าไปดูได้นะครับว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้วมีต้นไม้ดอกไม้อะไรที่น่าสนใจบ้างในงานเมื่อเทียบกับของปีปัจจุบัน ตาม ลิงค์นี้ เลยครับ และถ้าพร้อมแล้ว ก็ยินดีต้อนรับสู่งานต้นไม้สวนหลวง ร.9 กันได้เลยครับ เลือกเชิญชม ช้อป ชิม (?) กันได้ตามสบายเลยนะคร้าบ

  ขอเปิดเนื้อหาพาทัวร์นี้ด้วยน้องโป๊ยเซียนน่ารักจุ๋มจิ๋มๆ ชื่อ ‘สร้อยรัชนี‘ นะครับ ต้นไม้ใหญ่ ดอกออกเป็นกลุ่มก้อน แถมราคาไม่แรงด้วย ตอนกำลังก้มหน้าก้มตาเก็บภาพมาฝากชาวบล็อก โดนโฉบไปเลยทันทีครับ การันตีความชวนหลงใหลจริงๆฮะ

029

มาทักทายกันอีกครั้งกับกล้วยหน้าตาประหลาดๆนี้ จริงๆไปงานต้นไม้ที่ไหนหรือตลาดต้นไม้ที่ไหนก็เถอะ กล้วยเทพพนม ก็จะต้องมีมาอวดเครืออวดหวีอยู่ทุกครั้งไป ใครสะสมกล้วยหรือของแปลก พลาดไม่ได้นะครับต้นนี้

001

โป๊ยเซียนหน้าตาธรรมด๊าธรรมดา ใส่ชื่อใส่เรื่องราวเข้าไปซะหน่อย กลายเป็นของแปลกของแหวกแนวไปเลยได้เหมือนกันนะเนี่ย ‘รวยจังเลย’ ประชด ชม หรืออะไรครับ หรือตั้งแค่เอาฮาฮะ ตะลึงตึงโป๊ะ !

031

ต้นนี้เจอมาหลายครั้งหลายคราวที่เจเจ ส่วนตัวชอบนะครับ โมกแดงเขาใหญ่ เป็นโมกที่ดอกใหญ่โตมากเลย ติดที่กลิ่นนี่ล่ะครับ ตุๆแบบกลิ่นดอกโมกราชินี มาแนวใบเตยหมดอายุยังไงยังงั้น พูดถึงเรื่องต้น พุ่มเค้าเก้งก้างตามสไตล์โมกขนาดเล็กแบบนี้ แต่ถ้าได้ตัดแต่งดีๆ จัดทรงหน่อยและมีดอกใหญ่ๆมาตลอด เป็นใครใครก็ฟินน์ จริงไหมครับ ^^

022

หางหงส์ เป็นเฟินสายที่ Fiyero ชอบมากที่สุดต้นหนึ่งเลยครับ อวบ ใหญ่ แข็งแรง สีเข้มสวย ไม้พวกนี้ถิ่นกำเนิดมาจากทางใต้ของไทย ตั้งแต่นครศรีธรรมราชลงไปเลยครับ สวยสุดๆ บ้านใครชื้นและมั่นใจปลูกพวกนี้ได้งาม ก็น่ามีประดับที่บ้านนะครับ สวยตะลึงเลยจริงๆ

028

พุดบุญรักษา (Posoqueria longiflora) ไม้ใบสวยดอกงามอีกชนิดที่ออกมาในตลาดเป็นที่ฮือฮาอยู่พักสั้นๆก่อนเฟดหายไปกับกาลเวลา ตอนนี้กลับมาอีกครั้งในงานสวนหลวงปีนี้และในเจเจวันพุธ-พฤหัสบดีครับ หอมอ่อนๆ เลี้ยงง่ายโตไม่ช้าไม่ไว เก็บเมล็ดมาเพาะเองสมัยเพิ่งกลับมาจากเมืองนอก จากเม็ดนี่หลายเดือนเลยนะครับกว่าจะยอมงอก พองอกเสร็จกว่าจะยอมโตก็ช้าเอาเรื่อง แต่กิ่งตอนกิ่งชำในตลาด พุ่งไวมากครับ !

017

ใบอ่อนเด่นมาแต่ไกลเลยครับต้นนี้ อโศกเอกวาดอร์ (Browneopsis ucayalina) ไม้โชว์ใบจากอเมริกาใต้ที่เคยซุปเปอร์แรร์ในบ้านเรา ปัจจุบันก็กลายเป็นไม้ที่คนปลูกโสกก็มีกันแทบทุกครัวเรือนไปแล้ว สวยนะครับ ที่บ้านก็ปลูกอยู่ แต่ถือเป็นไม้ ‘เยอะ’ ต้นนึงเลย ใบอ่อนแตกช้ามาก แตกก็ไหม้ง่าย รากชอบมีปัญหา ปลูกพร้อมๆกันต้นอื่นออกดอกติดเมล็ดจนงอกลูกโตจนมีหลานไปแล้วต้นนี้ก็ยังไม่ถึงไหนครับ #strong #strong #strong !

015

องุ่นทะเล (Coccoloba rugosa) พันธุ์นี้มีมาให้อยากได้อยู่ทุกปีเลยจริงๆ ใบสวยมากครับ หนาและแข็งกรอบมาก ต้นใหญ่ยืนเด่นเป็นสง่าจริงๆครับ ใครเงินถึงที่มี จัดเลยครับ น่าสะสมดีครับ

020

ไม้ป่าไทยๆอย่าง จีผาแตก (Ardisia) ก็มีมาให้ชมกันในงานเช่นเดียวกันครับ กลุ่มพิลังกาสานี่บ้านเรามีน่าสนใจหลายตัวอยู่นะครับ ที่บ้านมีแบบใบขนดอกดกสุดๆ ไว้จะพามาให้รู้จักกันในบทความหน้าๆนะคร้าบ

018

เอื้องมัจฉานุสีชมพู (Dendrobium farmeri ‘Pink’) หวานมากครับ ในงานมีบานหลายกระถางเลย บางต้นฟอร์มดี บางต้นก็ฟอร์มแฟบๆ เลือกซื้อกันได้ตามความพอใจและงบประมาณในกระเป๋านะครับ ^.^y

014

มาถึงของไฮไลท์อีกชนิดที่ส่วนตัวชอบมากครับ หน้าวัวใบ ‘Siam Diamond’ สวยหรูมีสไตล์มาก ยิ่งใหญ่ยิ่งสวย ใบมีหลายสีเลยครับ ด่างแดงด่างเหลือง ด่างขาวประปรายบมพื้นเขียว ขึ้นชื่ออยู่แล้วนะครับต้นนี้ ราคากระฉูดมาก แต่ถ้าใครงบถึง ควรจัดอย่างยิ่งครับ สวยจริงๆ (หลายหมื่นครับ)

026

มาบู๊ธบ้านก้ามปูบ้าง ไม้เดิมๆเลยครับ ทุกปีก็มีแต่กลุ่มเดิมๆ แต่ก็ยังชอบนะครับ เลี้ยงไม้ใบได้งามจับใจมาก มาสะดุดตาก็ Alocasia ต้นนี้ล่ะครับ ขนขายก็ไม่มีการจดชื่อมาอีกแหนะ เอาเป็นว่า ถ้าใครสนใจ ลองไปหาชื่อดูนะครับ ไม่ก็ถามกับเจ้าของคงจะได้ความรู้มากกว่าแน่ๆ

025

ซูมออกอีกหน่อย สง่ามากๆ ใบเข้ม หนาเป็นมันเลย <3

024

 พู่ระหงส์ (Hibiscus schizopetalus) ชบาสายพันธุ์เก่าแก่จากแอฟริกาตะวันออก เกิดมาก็เห็นต้นนี้แล้วที่โรงเรียนสมัยอนุบาล ทุกอย่างล้วนมีความทรงจำทั้งนั้นเลยนะครับ

033

ปีนี้ดูจะเป็นยุครุ่งเรืองของไม้ผลขนาดเล็กๆชนิดหนึ่งที่ชื่อ มะนาวนิ้วมือ หรือ มะนาวคาเวียร์ (Citrus australasica) สมัยนาย Fiyero ยังเป็นนักเรียนอยู่ที่ออสเตรเลีย ตลาดนัดส่วนใหญ่ก็จะมีลูกนี้มาขายเป็นถุงๆ มีหลายสีเลยครับ พอกลับมาที่ไทยก็ไม่เคยเห็นต้นนี้ขายเลย จนกระทั่งมาปีนี้ พรึบ

032

พรึบตามภาพเลยครับ นำเข้ามาหลากหลายสายพันธุ์มาก ใครรักใครชอบลองปลูกดูนะครับ ราคาสูงหน่อย แต่ก็ถือเป็นกิมมิคในการจัดจานอาหารหรือทำยำให้น่าสนใจขึ้นได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

011

พุดชมพูตัวใหม่ (Kopsia sp.) หวานดีครับ ดีกว่าพุดชมพูต้นที่เคยเขียนบทความตรงที่ตรงกลางมีแต้มแดงๆแบบเข็มอุณากรรณ แต่กลีบกว้างกว่า ดกดีด้วยครับ ใช้ได้เลย

013

เฟินสายงามๆ แต่มาอยู่กับเราจะงามแบบนี้มั้ยน้อ ชอบมากแต่ที่บ้านเลี้ยงไม่เคยรอดเลย สามสี่ปีก็ตายหมดแล้ว ทำไมน้อ

010

มนต์จำปา ออกดอกเรื่อยๆเลยครับ เหมือนจำปาดอกใหญ่ๆเพราะเป็นลูกผสมของแมกโนเลีย 2 ชนิดคือ มณฑาทองและจำปา แต่ก่อนแพงมาก หลายพันเลยต่อกิ่งเล็กๆกิ่งเดียว เดี๋ยวนี้ราคาลงฮวบๆๆๆ เหลือไม่กี่ร้อยเท่านั้นเองครับ

003

 ต้นนี้จริงๆเจอที่เจเจหลายครั้งแล้ว แต่มาสะดุดตาอีกครั้งที่งานเลยขอเก็บภาพมาฝากกันหน่อยนะครับ เข็มด่าง แบบด่างทั้งใบและดอกเลย สวยมาก เจ๋งตรงดอกก็ด่างแบบมีแพทเทิร์นนี่ล่ะครับ

009

 ชอกช้ำใจจังเลยแฮะ กระซิกๆ ไม่ใช่ว่าเพราะความดำทำให้จิตใจหมองหม่นแต่อย่างใดนะครับ แต่เพราะเคยนำเข้ามาเองหลายต่อหลายต้น แต่สุดท้ายก็ไม่รอด แง เมืองนอกปลูกต้นนี้กลางแดดจัด ดำมาก… สวยสุดๆไปเลย มาไทยเจอไอร้อนนิดไอร้อนหน่อย เกรียมเชีย ! หนวดปลาดุกดำ (Black Mondo Grass – Ophiopogon)

002

ช้องนาง สีใหม่ๆก็มีมาให้ได้เห็นกันในงานนี้นะครับ สีอ่อนๆสวยสบายตามากๆเลยครับ

035

อโศกแคระ (Cynometra mannii) เล็กๆน่ารักดีครับ เห็นครั้งแรกก็ในงานสวนหลวงเมื่อหลายปีก่อน ปีนี้มีต้นเล็กๆมาขายหลายต้นเลย เสร็จโจ๋ ^.^

005

 “สูงชะลูด ตูดปอด ยอดขุนพล” วลีนีหลายๆคนคงไม่เคยเห็นว่าชะลูด (Alyxia reinwardtii) นั้นแท้จริงหน้าตาเป็นอย่างไร พามาให้ชมแล้วนะครับ ดอกกะทัดรัดมากมายครัช

008

ต้นนี้น่ารักครับ เคยเห็นหลายๆสวนทำอยู่แต่ไม่ค่อยมีออกมาขายในตลาด เข็มอุณากรรณแคระสีขาว (Dwarf Kopsia) ต้องตัดแต่งพุ่มดีๆครับ นอกจากสีขาวแล้ว ก็ยังมีสีชมพูที่เปลี่ยนสีได้ด้วย ที่บ้านมีอยู่นานแล้ว ไว้จะพามาให้รู้จักกันอย่างละเอียดนะครับ

036

พูดถึงกลุ่มกระดังงา ช่วงนี้ดูซบเซาลงไปกว่าแต่ก่อนเยอะมาก งานนี้เจอ หมาดำ (Miliusa thorelii) ไม้สกุลเดียวกับระฆังสายยาว ระฆังภู อีแรด จิงจาบ ดอกเล็กๆพอกับต้นอื่นๆแต่ใบสวยและดอกดกดีครับ ใครจะเก็บเข้าคอลเลคชั่นก็ดีนะครับ น่ารักใช้ได้เลย 🙂

006

ปาหนันบอร์เนียว (Goniothalamus sp.) ออกมาในตลาดหลายปีพอสมควร และได้รับการตอบรับจากตลาดดีมากเสียด้วย เลี้ยงง่าย ค่อยๆโต ดอกดก กลิ่นหอม น่าปลูกครับ

034

หัวร้อยรูหนาม (Myrmecodia tuberosa) น่าร้าก…

027

เดินเตร็ดเตร่ต่อไปก็มาเจอกับ เอื้องหมายนาดอกชมพู (Costus sp.) หวานมากเลยครับ เล็กๆเหมาะกับปลูกในสวน เพิ่มสีสันตัดเหลืองตัดแดง ก็น่าชมอยู่นะครับ

023

ต้นนี้หาข้อมูลไม่ได้เลยครับ แม่ค้าคนสวยบอกมาว่าชื่อ กุหลาบใบบาง พุ่มแน่นดีครับ ใบแปลกตา ไว้ได้ชื่อที่ถูกต้องยังไงแล้วจะกลับมาแก้ในบทความให้นะครับ

021

 ต้นนี้ก็ไม่เห็นนานมากแล้วเช่นเดียวกัน Spike Speedwell (Veronica spicata) ในบ้านเรายังไม่เห็นตั้งชื่อกันนะครับ เมืองนอกเจอปลูกเป็นกอแน่นๆ ดอกแทงเบียดกันขึ้นมา อลังมากเลย ในงานเห็นขายแยกกระถาง หรอมแหรมดีแท้

030

ต้นนี้แม่ค้าทุกคนเรียกไม้ต้นขนาดเล็กดอกสีเหลืองผลสีส้มนี้ว่า แมคนัท และบอกว่าเป็น แมคคาเดเมีย สายพันธุ์หนึ่ง อันที่จริงแล้ว จะว่าคนขายมั่วก็คงไม่ถูกต้องนัก ต้องโทษคนที่เป็นแหล่งข้อมูลที่ย่ำแย่ที่สุดเสมอมา จากอดีตถึงปัจจุบัน ผู้เขียนคอลัมน์เกษตรของ นสพ ฉบับหนึ่ง ก็ยังคงเส้นคงวาเรื่องความมั่วซั่วได้อย่างไม่มีที่ติ

019

 ต้นดอกสีเหลืองด้านบนนี้คือ Peanut Butter Tree (Bunchosia argentea) โดยที่สามารถทานผลสดที่มีกลิ่นและรสชาติแบบ Peanut Butter ได้ ต้นนี้มีถิ่นกำเนิดจากอเมริกาใต้เลยนะครับ ไม่ใช่จากออสเตรเลียอย่างที่บางคนเคยนั่งเทียนเขียนร่างส่งต้นสังกัดแบบผ่านๆไปวันๆแต่อย่างใด

012

เชิญชมชวนชมในอีกรูปแบบนึงนะครับ Creative มาก ท่วงท่าและลีลาแปลกตา – ให้ 9.9 10 9.8 // กรรมการจากยูเครน

004

กำลังเขียนเพลินๆเลย รูปหมดคลังแล้วหรอเนี่ย ^.^ จริงๆยังมีอีกหลายต้นเลยครับ แต่ว่าคงเฉพาะทางเฉพาะกลุ่มไปหน่อย เลยขอเลือกมาให้ชมแต่เพียงเท่านี้ ผู้เขียนหวังว่าท่านผู้ชมคงจะมีแรงบันดาลใจในการก้าวออกจาก Social Network หรือการติดมือถือแล้วออกสู่โลกแห่งความเป็นจริง พบกับสิ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ ทำกิจกรรมกับคนที่รักและเพื่อนฝูง โลกเปลี่ยนไปมากเลยครับ ตลาดต้นไม้ก็เช่นกัน เงียบเหงาและแน่นิ่งมาก ถ้าเราอยากเห็นวงการไม้ประดับกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ลองประหยัดงบจากกิจกรรมอย่างอื่นแล้วมาเดินตลาดต้นไม้กันนะครับ เศรษฐกิจแย่ แต่ถ้าเราสามารถจัดการตัวเองได้ดี กิจกรรมยามว่างที่มีความสามารถพิเศษที่ทำให้เราลืมความเครียดความทุกข์ไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจอย่างการปลูกต้นไม้ดอกไม้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าให้หลุดมือไปนะครับ

พบกันบทความหน้า ไวๆนี้ครับ

รักแฟน

M&M V&V

Creative Commons License
aKitia.Com สงวนลิขสิทธิ์รูปภาพและบทความทั้งหมดของบล็อกภายใต้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.

I'm handsome. And I'm the owner of your heart.

2 comments On งานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร.9 (2015) – Suan Luang Fair

  • น้องแตงไทย

    เข้าโครงการเกษียรอายุก่อนกำหนดเมื่อปี 2554 ผ่านมา 4 ปี มาเปิดอ่านเวปบอร์ดนี้ พอดีจังหวะที่คุณ fiyero เข้ามาทักทาย
    หลังจากี่หายไปนานมาก เป็นแบบนี้แหละครับ เมื่อเริ่มทำงานส่วนมากจะไม่มีเวลาว่างเหมือนที่เคยผ่านมา ต้องทำใจ อย่างไรน้องแตงไทยก็
    เป็นกำลังใจให้นะครับ ถ้ามีเวลาก็เข้ามาทักทายกับเพื่อน ๆ บ้าง นะครับ

  • ดีใจที่Fi’roกลับมาเขียนบทความอีกนะครับ น่ารักจัง ป้าชอบอ่านแก้เหงา ได้ความรู้การดูแลต้นไม้ที่เรารักด้วย
    หวังว่าคงมีบทความใหม่ๆ ภาพสวยๆมาให้ชมกันเรื่อยๆนะลูก
    ขอบใจนะครับ

Leave a Reply

Site Footer