สวัสดีครับมิตรรักชาวบล็อก aKitia.com ทุกท่าน
ห่างหายจากการเขียนบล็อกไปหลายเดือน งานใช่ยุ่งอะไรมาก วุ่นเรื่องเดินทางเรื่องเที่ยวเสียมากกว่าครับช่วงนี้ ขึ้นเหนือล่องใต้เป็นว่าเล่น หลายๆคนก็เคยถามว่าไม่เหนื่อยเหรอ ทำไมเที่ยวบ่อยจัง จริงๆถามว่าเหนื่อยไหม มันเป็นความเหนื่อยที่มีความสุขล่ะครับ เดินทางไกลแต่ได้พบได้เจออะไรแปลกใหม่ สร้างสีสันแต่งเติมประสบการณ์ชีวิตให้น่าจดจำในวันที่ยังทำมันได้ ยิ่งแก่ตัวไป การเดินทางไปทำนั่นนี่โน่นก็คงไม่คล่องตัวเหมือนวัยนี้แล้ว มีโอกาสก็รีบทำครับ
บัวควีนสิริกิติ์ ~ Nymphaea ‘Queen Sirikit’
ช่วงนี้มีอะไรพลิกผันไปมากพอสมควร จากสมัยก่อนเคยฝังใจว่ายังไงก็ไม่สามารถปลูกบัวได้หรอก บัวสีหรือบัวกระป๋องราคายี่สิบสามสิบบาทยังเคยทำตายมาแล้วเลย ภาพและความคิดเหล่านั้นถูกผนึกแน่นไว้ในความทรงจำตั้งแต่สมัย ป.1 โตขึ้นมาก็ไม่เคยแยแสเลยแม้แต่ชายตามอง เดินตลาดต้นไม้มาเป็นร้อยเป็นพันครั้งก็ไม่มีแม้แต่ครั้งเดียวที่เคยสนใจ จุดเปลี่ยนอยู่ตรงนี้ครับ…
เมื่อประมาณสงกรานต์ที่ผ่านมา ก็ได้คุยกับพี่ที่สนิทด้วยคนหนึ่ง เค้าขอให้นายโรโร่คุงช่วยถ่ายภาพส่งประกวดให้หน่อยในหัวข้อ “บัว” ส่วนตัวก็มีคลังภาพต้นไม้ดอกไม้อยู่เยอะ แต่ไหงถึงไม่มีบัวเลยแม้แต่ดอกเดียว ภารกิจเก็บภาพบัวจึงเริ่มต้นขึ้น
บัวควีนสิริกิติ์ ~ Nymphaea ‘Queen Sirikit’
เมื่อเริ่มกดชัตเตอร์ การได้คลุกคลีก็ค่อยๆหล่อหลอมให้ความเย็นชากับ “ราชินีแห่งไม้น้ำ” นี้ค่อยๆจางหายไป โดยมีความสนใจ ความชอบ และความรักเข้ามาแทนที่ จากที่ไม่เคยคิดศึกษา ก็ศึกษาอย่างจริงจัง ข้อมูลเชิงลึกมากมายถูกยัดใส่เข้าในหน่วยความจำส่วนตัว ไม่ใช่แค่อ่านทุกอย่างที่เกี่ยวกับบัวและสายพันธุ์ต่างๆ แต่ยังรวมถึงการลงมือปลูกอีกด้วย
บทความนี้ เป็นบทความที่ตั้งใจเขียนสำหรับวันแม่ในปีนี้ครับ “บัวควีนสิริกิติ์”
ก่อนที่จะลงรายละเอียดเกี่ยวกับบัวพิเศษต้นนี้ ก็ต้องขอเล่าให้ฟังคร่าวๆก่อน จะได้ตามกันรู้เรื่องนะครับ
บัว แน่นอนล่ะว่าเป็นไม้น้ำ มีเหง้าหรือลำต้นอยู่ใต้ดิน และยืดใบไปแผ่บนผิวน้ำ หรือชูขึ้นสูงเหนือน้ำ บัวมีหลายประเภทนะครับ แต่ขอจัดเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 กลุ่มดังนี้
- วงศ์ปทุมชาติ (Nelumbonaceae) ~ Lotus ~ มีสมาชิกแค่สกุลเดียวคือ Nelumbo หรือบัวหลวงบ้านเรา
- วงศ์อุบลชาติ (Nymphaeaceae) ~ Waterlily ~ มี 6 สกุลคือ Barclaya, Euryale, Nuphar, Nymphaea, Ondinea และ Victoria
ข้อมูลที่นำมาเขียนให้ได้อ่านและทำความรู้จักกันนี้ อ้างอิงจากเอกสารทางวิชาการ “บัวพันธุ์ควีนสิริกิติ์” และบทความเรื่อง “บัวฝรั่งดอกสีน้ำเงินและความฝันของนักผสมพันธุ์บัว” ถูกตีพิมพ์บนนิตยสารสารคดี ปีที่ 28 ฉบับที่ 335 มกราคม 2556 บวกกับประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้สัมผัสกับบัวพิเศษชนิดนี้ มาทำความรู้จักกับนางงามแห่งประวัติศาสตร์บัวโลกกันเลยครับ
ผลงานที่ทรงคุณค่าต้นนี้เป็นของคุณไพรัตน์ ทรงพานิช นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ผู้มีความสนใจจริงเกี่ยวกับการพัฒนาสายพันธุ์บัวฝรั่งในบ้านเรา
บัวควีนสิริกิติ์ ~ Nymphaea ‘Queen Sirikit’
- ในโลกนี้ มีอุบลชาติ (Genus Nymphaea) อยู่ 6 สกุลย่อย (Sub-Genus) คือ
- Anecphya (บัวยักษ์ออสเตรเลีย) -บานกลางวัน
- Brachyceras (บัวผัน-เผื่อน) – บานกลางวัน
- Confluentes (บัวยักษ์ออสเตรเลียอีกกลุ่ม)
- Hydrocallis (บัวเขตอบอุ่น) – บานกลางคืน
- Lotos (บัวสาย) – บานกลางคืน
- Nymphaea (บัวฝรั่ง) – บานกลางวัน
บัวควีนสิริกิติ์ ~ Nymphaea ‘Queen Sirikit’
บัวควีนสิริกิติ์ เป็นการต่อยอดจากความสำเร็จของการผสมข้ามสกุลย่อย (Intersubgeneric Hybrid) ของบัวในโลก นับเป็นร้อยปีที่ไม่มีผู้ใดสามารถผสมบัวฝรั่งให้ได้สีโทนน้ำเงินม่วง เพราะบัวฝรั่งส่วนใหญ่มีสีหลือง ขาว ชมพู แดง ส่วนบัวผันบ้านเรามีสีม่วง ขาว น้ำเงิน ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของโลกเกิดจากที่คุณไพรัตน์ผสมบัวฝรั่ง “สุปราณีพิงค์” เป็นต้นแม่และบัวผัน “นางกวักฟ้า” เป็นต้นพ่อ ออกมาเป็น “สยามบลูฮาร์ดดี้” (N. ‘Siam Blue Hardy’) ในปี 2550 ลูกผสมข้ามสกุลย่อยสีน้ำเงินต้นแรกของโลก แต่ต้นนี้ไม่แตกหน่อ ปี 2554 มีน้ำท่วมใหญ่ ยกหนีน้ำท่วมทันแต่หลังจากนั้นโดนหอยเชอร์รี่งาบ จบเลยครับ เป็นการสูญเสียครั้งที่ใหญ่หลวงมากๆจริงๆสำหรับวงการบัวในโลก
บัวควีนสิริกิติ์ ~ Nymphaea ‘Queen Sirikit’
บัวควีนสิริกิติ์ คือความภาคภูมิใจของคนไทย เกิดจากการผสมข้ามสกุลย่อย ระหว่างสกุลย่อย Nymphaea (บัวเขตอบอุ่น หรือบัวฝรั่ง) ชื่อว่า เพอรีส์ ไฟร์ โอปอล (Perry’s Fire Opal) กับสกุลบัวผัน (Brachyceras) ชื่อว่า นางกวักฟ้า (Nangkwag Fah) โดยใช้เพอรีส์ ไฟร์ โอปอล เป็นต้นแม่ และนางกวักฟ้า เป็นต้นพ่อ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เริ่มให้ดอกเดือนเมษายน 2553
บัวควีนสิริกิติ์ ~ Nymphaea ‘Queen Sirikit’
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2555 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาต ให้ลูกผสมใหม่ชนิดนี้ มีชื่อว่า “บัวควีนสิริกิติ์ (Nymphaea ‘Queen Sirikit’)” รูปงามนามเพราะจริงๆครับ
บัวควีนสิริกิติ์ ~ Nymphaea ‘Queen Sirikit’
บัวควีนสิริกิติ์ ถือเป็นบัวฝรั่งหนึ่งในต้นแรกๆของโลกที่มีสีม่วงฟ้า ถึงพ่อจะเป็นบัวผันเขตร้อน แต่ก็ได้เลือดแม่มาเต็มเปี่ยม เช่น ใบกลมเรียบไม่มีหยัก มีลำต้นเจริญใต้ดินในแนวนอน (บัวเขตร้อนโตแนวดิ่ง) ก้านดอกชูเหนือน้ำโดยมีดอกตูมเป็นรูปรี
บัวควีนสิริกิติ์ แตกใบเก่งนะครับ ใบใหม่ๆมีสีน้ำตาลอมแดงและหูใบเกยชนกันตั้งเป็นสันขึ้นมาเลย แต่พอใบแก่หน่อย ก็ทับกันเป็นในกลมๆเรียบๆสีเขียวเข้ม ท้องใบสีม่วงครับ
บัวควีนสิริกิติ์ ~ Nymphaea ‘Queen Sirikit’
ดอกเริ่มบานตอนเช้ามืดเลยครับ บานๆหุบๆอยู่ได้ 3-4 วัน โดยเปลี่ยนความเข้มของสีม่วงกับทรงดอกไปตามระยะเวลาการบาน ดอกไม่ถือว่าใหญ่และออกไม่ดกมากนะครับ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร แต่ด้วยรูปทรงและความพิเศษ ทำให้มองข้ามจุดนี้ไปเลยครับ ดอกออกเป็นชุดๆ คือทยอยบานประมาณ 5 ดอกในช่วง 1 เดือนแล้วหยุดพัก หลังจากนั้นอีกระยะค่อยออกใหม่เช่นเดียวกับบัวฝรั่งอื่นๆครับ
- วันแรกสีเข้มสุด แต่ดอกจะห่อๆไม่ค่อยบานมาก เกสรตัวเมียพร้อมรับการผสม โดยมีน้ำต้อยหล่อเลี้ยงตรงกลางครับ
- วันที่สอง-สามสีจางลงมา เป็นการไล่สีขาวไปม่วงชัดเจนมากขึ้น ดอกบานเป็นทรงถ้วยสวยได้ฟอร์ม เกสรตัวผู้ได้อายุผสมพอดี แต่เกสรตัวเมียน้ำแห้งไปแล้ว
- วันที่สี่กลีบบานไม่ค่อยเป็นระเบียบเท่าไหร่แล้ว และสีซีดลงมากๆ (รูปด้านล่างเลยครับ)
บัวควีนสิริกิติ์ ~ Nymphaea ‘Queen Sirikit’
บัวควีนสิริกิติ์ใช้พื้นที่พอสมควรเลยในการเติบโต ชอบดินเหนียวสารอาหารอุดมสมบูรณ์ น้ำสะอาดๆ ลึก 40-50 เซนติเมตรเช่นเดียวกับบัวฝรั่งขนาดกลางอื่นๆครับ สิ่งสำคัญสุดๆของการปลูกบัวก็คือเรื่องแดด ต้องได้รับแสงแดดเต็มที่มากกว่า 5-6 ชั่วโมงนะครับ และอีกเรื่องคือปุ๋ย บัวชึ้นชื่อเรื่องกินปุ๋ยเก่งมาก คือต้องใส่ปุ๋ยให้เค้าทุกๆ 2 อาทิตย์
ปุ๋ยก็ใช้ปุ๋ยเคมีเม็ดเล็กๆห่อกระดาษเป็นก้อนๆแล้วยัดลงใต้ดินดักหน้าเหง้า ห่างรากซัก 2 ข้อนิ้ว กดลงไปตรงๆลึกๆแล้วใช้ดินเหนียวกลบให้เรียบร้อย ถ้าไม่อยากห่อเอง ในท้องตลาดก็มีปุ๋ยบัวอัดเม็ดสำเร็จรูปขายมากมาย บำรุงต้นก็ใช้สูตรเสมอ ต้นสมบูรณ์แล้วก็ใส่เร่งดอกไป ไม่เกิน 2 อาทิตย์ตาดอกมาแน่นอนครับ
บัวควีนสิริกิติ์ ยังไม่มีขายในบ้านเรานะครับ ถึงแม้จะมีออกมาระยะหนึ่งแล้ว เช่นเดียวกับบัวลิขสิทธิ์อื่นๆที่ผู้ผลิตได้จดทะเบียนไว้ ส่งออกนอกได้อย่างเดียว แต่ไม่สามารถซื้อขายกันได้ในราชอาณาจักรไทย ล่าสุด เจอมีการขายต้นนี้กันในเยอรมนีและประเทศใกล้เคียงในยุโรป ทั้ง ebay และขายทางเวปไซต์ส่วนตัว สนนราคา (ราคาตามท้องตลาด) ที่ 115 Euro (ประมาณ 5,000 บาทไทย) ต่อหนึ่งหน่อ เป็นที่ต้องการของต่างประเทศ (รวมถึงคนไทย) มากพอสมควรเลยล่ะครับ เพราะความโดดเด่นในสีสันและรูปร่าง สีม่วงถือเป็นของแปลกสำหรับบัวฝรั่งในโลกจริงๆครับ
บัวควีนสิริกิติ์ ~ Nymphaea ‘Queen Sirikit’
บทความนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าขาดเพื่อนๆพี่ๆน้องๆผู้ปลูกและสนใจบัวประดับคอยให้ความรู้ตั้งแต่ต้น และจะไม่มีภาพให้ได้ชมถ้าน้องบัวเค้าไม่ยอมบานที่ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ครับ ไปแต่ละครั้งก็เก็บภาพไว้ บางครั้งไปมีแต่ใบ บางครั้งใบงามดอกมาเต็มฟอร์ม บางครั้งก็ไม่งาม เพราะมีโอกาสได้เดินทางขึ้นเหนือบ่อยมาก เลยได้ถ่ายทำนานอยู่ครับกว่าจะได้โอกาสเผยแพร่ให้ชาวบล็อก aKitia.com ได้อ่านและศึกษากัน
วันแม่ปีนี้ ส่วนตัวไม่มีอะไรพิเศษให้กับคุณแม่ มีแค่การ์ดกับของขวัญเล็กๆน้อยๆ ปกติแสดงความรักกับคุณแม่อย่างเปิดเผยและสม่ำเสมออยู่แล้ว แม่คือผู้ให้ทุกอย่าง บางครั้งรู้สึกแย่ การที่ได้กลับบ้านมากอดแม่อ้อนแม่ ก็ช่วยคลี่คลายความทุกข์หลายๆอย่างไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ ที่ที่เรียกว่าบ้าน มีคนที่เรารักและรักเรารออยู่ สุขใจที่สุดแล้วล่ะครับ
**********
[poll id=”16″]
A Summary for Nymphaea ‘Queen Sirikit’
Nymphaea ‘Queen Sirikit‘ is an intersubgeneric cross-breed developed by Mr. Pairat Songpanich; a product of Nymphaea ‘Perry’s Fire Opal’ and Brachyceras ‘Nang Kwak Fah’.
The name was designated in honor of Her Majesty Queen Sirikit of Thailand in 2012.
It displays a 10-cm, violet-hued, cup-shaped, fragrant flower with white base. Leaves are dark green.
This hardy waterlily grows best in full sun with rich soil and regular fertilizers provided.
It can be propagated by dividing rhizomes.
Please feel free to leave a comment, thank you for visiting.
ความน่าปลูก
ราคา
(แพงมาก และหาซื้อไม่ได้ในไทย)
กลิ่นหอม
รักแฟน
M&M V&V
aKitia.Com สงวนลิขสิทธิ์รูปภาพและบทความทั้งหมดของบล็อกภายใต้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
6 comments On บัวควีนสิริกิติ์ ~ Nymphaea ‘Queen Sirikit’
โอ้โห ขอบคุณครับผม
บทนี้มีแต่ข้อมูลเชิงลึกเลย
ผมเองก็อยากจะลองดูครับ แต่ไม่มีบ่อใหญ่ๆ หาบัว แบบสมัครเล่น ราคาบ้านๆ เลี้ยงพื้นที่เล็กๆได้ครับ
จะได้มีรูปไว้อวดกันบ้าง
@MEKHONG, รอชมนะพี่ 🙂
สวยงามมากจ้ะ ชื่นชอบดอกบัวพอสมควร แต่ราคายังโหดอยู่ก็เบรคไว้ก่อนจ้ะ ดีใจมากที่ได้อ่านบทความจากหนูโร่ค่ะ
@Pat, คร้าบ :angel: ไม่ค่อยได้เข้าบล็อกบ่อยเหมือนแต่ก่อนเท่าไหร่ แต่ต่อไปจะมาเขียนบ่อยขึ้นนะครับ สต๊อกรูปเต็มเลย 😀
อยากเห็นดอกเป็นๆ คงจะงามมาก เป็นบุญตาที่ได้ชมคะ จะมีโอกาสได้เห็นดอกจริงๆไหมคะ ราคาสูงจังเลย
@ฮาวาย, เดี๋ยวก็มีโอกาสครับคุณป้า ดอกจริงเล็กๆน่ารักคับ