เฮ้ออออออ ช่วงนี้ชีพจรลงเท้าครับ จากเดิมที่เที่ยวเก่งอยู่แล้ว ยิ่งต้องตะลอนๆๆๆๆ ไปทั่วทุกสารทิศ ทำงานบ้าง ช่วยงานเพื่อนบ้าง แต่ก็เอาเถิดครับ เพราะการเดินทางนี่แหละที่หล่อหลอมให้ Invisible เป็น Invisible อย่างทุกวันนี้ อันที่จริงหลังจากบทความที่แล้ว ว่าจะพักก่อนซักสามสี่เรื่อง ปล่อยให้สองหนุ่มเค้าบรรเลงกันไปตามเดิมก่อน
แต่เพราะว่าในการเดินทางครั้งล่าสุดนี่เอง ที่ Invisible บังเอิญได้เจอะกับดอกไม้ช่องาม ที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นดอกเร็วขนาดนี้มาก่อน ก็เลยอดใจไม่อยู่ ต้องนำภาพสวยๆมาแบ่งปันเป็นบรรณาการให้คุณๆผู้อ่านบล็อกแบบพิเศษสุดๆที่นี่ที่เดียว เรียกว่าส่งเมล์แบบด่วนจี๋ แท็ครูปกันแบบเรียลไทม์กันเห็นๆ
สร้อยสยาม ~~ Bauhinia siamensis
ต้นไม้สุดแสน สะ-เป-เชี่ยลลลล ของเราวันนี้ มีชื่อว่า ‘สร้อยสยาม’ครับ แค่ชื่อก็สามารถทำให้ Invisible เต้นเร่าๆ ด้วยความอยากได้ไปเรียบร้อยแล้ว ยิ่งไปเห็นดอกจริงผลิบานอยู่ตรงหน้า ก็ทำให้ตายคาที่กันไปเลยทีเดียว เพราะความสวยมากกกกกก (ใส่ ก ไก่กุ๊กๆไปเยอะๆ เพราะสวยมากกกกกกกก จริงๆครับ) ของเค้านี่แหละ
มาอ่านต่อกันนะครับ…
[audio:http://music.sutros.com/songs/9266/___________.mp3|autostart=yes|loop=yes]
สร้อยสยาม มีอีกชื่อหนึ่งว่า ชงโคสยาม ถึงแม้ว่าชาวบ้านในพื้นที่จะเรียกพรรณไม้ชนิดนี้ว่า ‘เสี้ยวแดง’ แต่ชื่อนั้นก็สุดแสนจะโหล และอาจจะซ้ำกับพรรณไม้ประดับในกลุ่มชงโคอีกหลายชนิดที่มีดอกสีแดงซึ่งนำเข้า จากต่างประเทศมาปลูกกันเป็นไม้ประดับในเมืองอีกหลายต้น เช่น ชงโคแดงหรือกาหลงแดง (Bauhinia galpinii) จนสร้างความสับสนให้กับคนทั่วไปได้ง่าย ชื่อ ‘สร้อยสยาม‘ จึงดูจะเป็นชื่อที่เหมาะสมดี
สร้อยสยาม ~~ Bauhinia siamensis
เพราะพืชชนิดนี้มีดอกเป็นทรงคล้ายสร้อยห้อยยาวลงมาเป็นสายสีชมพูช็อคกิ้ง พิงค์ ขนาดกว่าฟุต แต่ละช่อนั้นก็มีดอกได้มากกว่าสิบดอกขึ้นไป โดยทยอยบานจากโคนช่อมาจนถึงปลายไปเรื่อยๆ คล้ายกับสายสร้อยขนาดใหญ่ ซึ่ง ‘สร้อยสยาม’ เป็นพืชในกลุ่มเสี้ยว/ชงโค เพียงชนิดเดียวที่สามารถออกดอกได้ในลักษณะนี้ ซึ่งนับว่าเป็นลักษณะเด่นชนิดที่เรียกได้ว่าไม่ซ้ำกับชงโคชนิดใดเลย
สร้อยสยาม ~~ Bauhinia siamensis
ถึงแม้จะไม่มีกลิ่นหอม แต่แค่นี้ก็เรียกได้ว่าแปลกและโดดเด่นไปจากผองเพื่อนหลายเท่า ถ้าใครยังจินตนาการถึงสีของต้นไม้ต้นนี้ไม่ออก ให้นึกถึงดอกพวงชมพู ที่ถูกปรับสีในโปรแกรมโฟโต้ช็อปให้แปร๋นๆ ยังไงหยั่งงั้นล่ะครับ เรียกได้ว่าปลูกท้ายหมู่บ้าน มองเห็นกันตั้งแต่ป้อมยามปากซอยกันเลยทีเดียว ยิ่งเวลาออกดอกดกๆเต็มต้น ยิ่งสร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็นได้ง่ายๆครับ
เนื่องจาก ‘สร้อยสยาม’ ของเราต้นนี้ เป็นพรรณไม้ที่อยู่ในสกุลชงโค (Bauhinia) ดังนั้น ใบของเจ้าต้นนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากพรรณไม้ในกลุ่มนี้ต้นอื่นๆ นั่นคือมีใบเป็นรูปหัวใจสีเขียวอมเทา ขนาดกลางๆ ใบไม่รกเกะกะ แต่ก็ไม่ได้เล็กจิ๋วขนาดชงโคแคระออสเตรเลีย (Bauhinia hookeri)นะครับ
สร้อยสยาม ~~ Bauhinia siamensis
ที่เด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือเวลาแตกยอดอ่อน หรือกิ่งอ่อน สร้อยสยามจะมีหูใบเล็กๆ แนบอยู่ตรงกิ่งให้เห็นเป็นสีแดง ตัดกับใบสีเขียวอย่างชัดเจน และมีมือจับเป็นกิ่งเล็กๆ ไว้ตวัดช่วยยึดตัวให้เข้ากับวัสดุต่างๆได้ดีมากยิ่งขึ้น สร้อยสยามเป็นพรรณไม้กึ่งเลื้อย ตามธรรมชาตินั้นจะพบในบริเวณป่าไผ่ในระดับความสูงประมาณ 300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากเลยครับที่เค้าจะผลิดอกและเติบโตอย่างงดงามใน พื้นที่ราบแถบภาคกลาง หรือแม้กระทั่งใน กทม อันร้อนระอุของเราก็ตาม
สร้อยสยาม ~~ Bauhinia siamensis
ถึงแม้จะเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย แต่สร้อยสยามก็เป็นไม้ที่น่าปลูก ใบก็มีขนาดไม่ใหญ่นัก เถาไม่เกะกะระรานแบบอรพิม (Bauhinia winitii) ซึ่งมีขนาดเถาใหญ่มากและรกพอตัว จึงเหมาะจะปลูกประดับซุ้มในสวน หรือปล่อยให้ทอดยอดกับรั้วระแนง ตัดแต่งให้เข้ารูปเข้ารอยบ้าง รับรองว่าเวลาออกดอกแล้วจะเด่นเป็นสง่าแน่นอนครับ
สร้อยสยาม ~~ Bauhinia siamensis
นอกจากจะรูปงาม นามเพราะแล้ว เจ้าต้นสร้อยสยามที่ว่านี้ยังมีศักดิ์ศรีเป็นถึงพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย ที่พบขึ้นเฉพาะบริเวณภูเมี่ยง จังหวัดพิษณุโลกเพียงแห่งเดียวในโลกเท่านั้นอีกด้วยนะครับ พรรณไม้แห่งสยามประเทศของเราต้นนี้ ถูกค้นพบ (เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2001) และเก็บรวบรวมตัวอย่างโดยคุณธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ ก่อนจะนำมามอบให้กับอาจารย์ Kai Larsen และ อจ. สุภีร์ ศักดิ์สุวรรณ ลาร์เซน เป็นผู้บรรยายลักษณะทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงตั้งชื่อไทยแสนเก๋ชื่อนี้ไว้เมื่อปี 2002 ที่ผ่านมา จึงนับว่าเป็นพรรณไม้ที่ค่อนข้าง ‘ใหม่’ และเป็นที่รู้จักกันในวงแคบๆเท่านั้น
สร้อยสยาม ~~ Bauhinia siamensis
การขยายพันธุ์สร้อยสยามนั้น นิยมใช้วิธีเพาะเมล็ด แต่เมล็ดก็มีจำนวนน้อย และไม่ค่อยติดฝัก นอกจากนี้ในธรรมชาติก็มีอยู่จำนวนไม่มาก ถ้าหากปล่อยไว้ก็อาจจะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้ง่าย ดังนั้นจึงมีผู้ริเริ่มการเพาะขยายพันธุ์สร้อยสยามจากเนื้อเยื้อจนประสบผล สำเร็จแล้ว แต่ก็ยังมีจำนวนไม่มากนัก และยังไม่มีการจำหน่ายสู่ท้องตลาดแต่อย่างใด นอกจากนี้ก็ยังมีการใช้ตอสกุลชงโคไปทาบกิ่งเช่นเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้เอง สร้อยสยามจึงนับว่าเป็นพรรณไม้หายาก ณ ปัจจุบัน (ปีพ.ศ. 2553) สร้อยสยามยังคงเป็นพรรณไม้ที่ยังไม่มีปลูกแพร่หลายตามบ้านเรือน ไม่พบว่ามีต้นขายทั่วไปตามร้านค้าไม้ดอกไม้ประดับ นอกจากในแหล่งกำเนิดแล้ว จะมีก็เพียงสวนพฤกษศาสตร์และสถานที่ราชการบางแห่งเท่านั้นที่มีต้นไม้ชนิด นี้ปลูกอยู่
สร้อยสยาม ~~ Bauhinia siamensis
ก็ได้แต่เอาใจช่วยให้มีการสนับสนุนการขยายพันธุ์พืช ชนิดนี้ไว้ให้ได้มากๆ เพื่อช่วยกันอนุรักษ์พืชชนิดนี้ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ลงไป แม้จะเป็นการปลูกนอกถิ่นอาศัยก็ตาม ส่วนต้นที่ถ่ายมาลงบล็อกนี้ เป็นต้นที่ปลูกไว้ในบ้านเพื่อนรุ่นพี่ของ Invisible และกำลังอยู่ในขั้นตอนทดลองขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นๆอยู่ครับ
ถ้าได้ผลยังไง สัญญาว่าจะนำข้อมูลมาอัพเดทให้เพื่อนได้ทราบก่อนใครที่นี่แน่นอนครับ
++++++++++
A summary for ‘Soi Siam’ (Bauhinia siamensis)
Bauhinia siamensis, officially named in 2002, is one of the rarest Bauhinia species in the world. The specimen is endemic to the North of Thailand. This climber is up to 15 meters long.
Hanging racemes of Shocking pink blooms are found at the end of the year; blooming from top to bottom. Each bunch yields more than 10 flowers without any fragrance.
The plant should receive enough light to produce blossoms and requires well-drained soil to promote growth.
Most common propagation methods are by seeds and grafting.
Please feel free to leave a comment, thank you for visiting.
ความน่าปลูก
ราคา
(ไม่มีข้อมูล)
กลิ่นหอม
aKitia.Com สงวนลิขสิทธิ์รูปภาพและบทความทั้งหมดของบล็อกภายใต้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย.
35 comments On สร้อยสยาม ++ Bauhinia siamensis
เพลงสร้อยแสงแดง (ลาวจ้อย) ดังแว่วมาแต่ไกล 555+ :biggrin:
เนื้อหาแน่นดีคร้าบ ขอบคุณเลยที่มาแบ่งปันเรื่องดีๆกันวันนี้ 😉
หายากดีต้นนี้ ยอมรับเลย :pinch: อยากได้เหมือนกันอะ แต่เลื้อยที่ไหนดีนะ แดดก็ไม่มี โครงก็ไม่มีแล้ว :dizzy:
ดอกเค้าน่ารักดีเนอะ สีสดใสร่าเริงมากๆ 555+ แต่ดูเหมือนดอกจะไม่ดกเลยแฮะ :w00t: ถ้าดกด้วยหอมด้วย เพอร์เฟค 😎
บทความหน้าเขียนเรื่องไรดีน้อ :angel:
@Fiyero, คิดว่าน่าจะดกนะ ช่วงนี้เพิ่งเริ่มออกกันเอง เดี๋ยวไว้ปลุกเองก่อนเหอะ
ว่าแต่คราวหน้า โร่จะเขียนอะไรล่ะเนี่ย
@Invisible Man, เดี๋ยวก็รู้ 555+ :biggrin:
สวัสดีครับ Invisible :happy: กลับมาครั้งนี้่ตื่นตาตื่นใจมากๆครับ สร้อยสยาม ชื่องามนานไพเราะต้นนี้ เห็นทีแรกผ่านสายตาไป ๐.๕ วินาทียังสงสัยว่าใครเอาพวงชมพูไปพาดชงโคไว้ :dizzy: มาดูอีกที อะเจ้ย ฟิ’โร่บอกว่ามันใช่ไหมนั่น :biggrin: ๕๕๕+
เจ๋งมากครับ เป็นไม้ถิ่นเดียวของไทยอีกต่างหาก คาดว่าถ้าออกสู่ตลาดราคาคงแพงระยับจับไม่ลงแน่แซะ เอาเหอะ รอได้อีกสัก ๕ ปี ๑๐ ปีก็ยังไม่สายไปนะเออ ต้นไม้งาม เพลงเพราะพลิ้ว เหมาะแก่การจิบโอเลี้ยง ลงตัวเป็นอย่างยิ่ง :happy:
@แมค, ตอนแรกก็คิดเหมือนเฮียอ่ะ แต่พอมองดีๆแล้วก็ เว้ย เฮ้ยยยยย
ออกตลาดมาแรกๆ แพงชัวร์ แล้วก็คิดว่าจะแพงไปอีกระยะหนึ่งเลยแหล่ะคับ
ดีจ้า…….. :biggrin:
โห…สวยมากกกกกกกกก……….อยากได้..
ถูกตา ต้องใจ แต่อยู่ไกล ไม่มีขาย..เง้อ.. :dizzy:
สีซมปู้…ซมปู เป็นที่โปรดปรานของคนดงเลยเจ้าค่ะ
รู้ว่ากิเลสก่อ..เลยส่งเสียงเพลงไพเราะมากล่อมใจล่ะสิ… :wub:
@คนดง, หวังว่าจะมีขายในตลาดต้นไม้ ให้เพื่อนๆชาวพฤกษาชนได้ปลูกกันเร็วๆนี้นะครับ แต่ดูๆแล้ว ยังไม่เห็นหนทางว่าจะมีขายในช่วงนี้เลยเหมือนกัน
:shocked: Invisible Man นำดอกไม้สร้อยสยาม นามเขาเพราะจริงๆค่ะ สีดอกสวยเด่น สง่าน่ะคะ ให้ช่อดอกยาวด้วยล่ะ 🙂 เพลงไพเราะเสนาะหูมากค่ะ ได้ยินเสียงระนาดคิดว่าอยู่สมัยอยุธยาโน้นค่ะ 🙂
ถ่ายภาพสวย คม ชัดเจนมากค่ะ ข้อมูลเพี้ยบ เท็คทีมดีมากค่ะ5555
🙂 แต่รอให้ขยายพันธุ์ได้เยอะๆๆๆก่อน หายากจริงๆๆค่ะ
@พัฒ, เพลงเพราะใช่ไหมครับ ผมเองก็ชอบเพลงนี้มากๆเลยเหมือนกัน
ยินดีที่ทุกท่านถูกใจกับบทความ และเพลงที่เราเลือกสรรกันมานะครับ
เป็นธรรมดาของสวยมักหายาก ผลงานชิ้นต่อไปขอเป็นสียงจะเข้บ้างนะคะ ดอกไม้สวยเพลงไพเราะ สร้างเสริมสุขภาพจิตได้ดีมาก ๆคะ ถ้าลื้อยขึ้นซุ้มคู่กับพวงโกเมน ชมพู ส้ม คงน่าดูเนาะ สร้อยสยามออกดอกช่วงไหนคะ
@ฮาวาย, ออกช่วงนี้ครับผม แต่ในธรรมชาตินี่จำไม่ได้ ต้องกลับไปเช็คดูอีกทีครับ
ส่วนเพลง ลองถามหนูโร่ เจ้าของบทความครั้งหน้านะครับ
@Invisible Man, ตามตำราบอกว่ากุมภาพันธ์ – เมษายนครับ 😎
ชอบรูปที่สองมากๆครับมันเป็นยอดอ่อนเหรอครับ :whistle:
@MEKHONG, เป็นยอดอ่อนครับผม
สวยมากค่ะ มีจำหน่ายเมื่อไหร่ช่วยส่งข่าวบ้างน่ะคะ
@ชมพู่, ครับผม
ข้อมูลดีดี แน่นแน่น
ภาพสวยๆ คอนทราสจัดจัด ตามสไตล์ “นายล่องหน”
ถึงอยากได้ ก็คงยังไม่มีขาย
ชงโคกับผม เข้ากันยังกับอะไรดี
ที่ไหนมีตัวเป็นๆ ให้ชมบ้างน้าาา… :wub:
@chato, ถ้าจำไม่ผิด หน้าหอพรรณไม้ที่ ม. เกษตรก็มีปลูกอยู่ต้นหนึ่งนะครับพี่
ช่วงนี้ไม่ค่อยแวะเข้ามาเลย มาฟังเพลงนิดหนึ่ง ฮ่าๆๆ
@MEKHONG, เพลงเพราะดีนะครับพี่ :angel:
สุดยอดมากครับ สวยแปลกตาจนไม่น่าจะเชื่อว่าเป็นชงโคนะเนี่ย สมแล้วที่หายากมากๆแล้วยังเป็นไม้ถิ่นเดียวของไทยอีก น่าภูมิใจมากเลยนะครับ แบบนี้ใครเห็นก็อยากมีสะสมไว้นะครับ (ถ้ามีขาย) :pinch:
@ก้อง, อยากได้เหมือนกัล แต่ไม่มีขาย สงสัยต้องเริ่มปฏิบััติการณ์แบบเดิมๆ 555+ 😆
อยากปลูกจังค่ะ ทราบมั้ยคะว่าหาซื้อได้ที่ไหน ชอบตอบด้วยนะคะ ขอบคุณค่า 😉
@NAN, ในตลาดยงไม่มีต้นขายเลยครับผม
ดีจังค่ะ ที่นำมาให้ดู สวยมากเลยเพิ่งจะเคยเห็น เห็นแล้วอยากปลูก ชอบที่เป็นดอกสีชมพูค่ะ
เพลงเหมือนเดินชมสวนสวยๆๆ
ดอกไม้สีชมพู ยายเห็นแล้วใจละลายยยยยย :wub: (ใส่ “ย” มั่งจะได้ดูอลังการ 555)
เสียอย่างเดียว รอเลื้อยนี่หละ เฮ้อๆๆๆๆ :unsure:
สวยมากเลยค่ะ สีชมพูจังเลย ดูแล้วหายร้อนดี
@naningcu, จริงๆเค้าออกส้มๆนิดๆนะครับ กล้องของนายอินวิอาจจะเพี้ยนๆเล็กๆครับ ^.^
สวยจัง ตอนนี้มีขายรึยังครับ
@Udo, มีขายแล้วคร้าบ
Pingback: สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์, สวนพฤกษศาสตร์แม่ริม, QSBG, สวนต้นไม้, สวนดอกไม้, ที่เท ()
Pingback: สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์, สวนพฤกษศาสตร์แม่ริม, QSBG, สวนต้นไม้, สวนดอกไม้, ที่เท ()
Pingback: สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์, สวนพฤกษศาสตร์แม่ริม, QSBG, สวนต้นไม้, สวนดอกไม้, ที่เท ()
Pingback: สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์, สวนพฤกษศาสตร์แม่ริม, QSBG, สวนต้นไม้, สวนดอกไม้, ที่เท ()