古箏 กู่เจิง เสียงพิณจากแดนสวรรค์ |
|
ในหมวดหมู่: ความรู้ทั่วไป, ท่อง Cyber |
ละเลงโดย แมค วันเสาร์ 19 กรกฎาคม 2008
สวัสดีครับ… วันนี้มีโอกาสได้เข้ามาเขียนในส่วนนี้แต่ก็ไม่พ้นเรื่องดนตรีอีก และเรื่องที่จะนำมาบอกเล่าในวันนี้คือเรื่อง 古箏 เสียงพิณจากแดนสวรรค์ ตัวอักษรจีน ๒ ตัวนี้
古箏 อ่านออกเสียงว่า Gŭ Zhēng หรือในภาษาไทยเป็นที่รู้จักกันในนามของ กู่เจิง
คำว่า 古 Gŭ กู่ โดยรากศัพท์แปลว่า เก่าแก่ โบราณ
คำว่า 箏 Zhēng เจิง นั้นเป็นชื่อเฉพาะของเครื่องดนตรีชนิดนี้ ซึ่งในการออกเสียงตามภาษาจีนแล้วก็ไม่ได้ออกเสียงว่าเจิงตรงๆตัว Zh ตัวนี้จะเป็นการออกเสียงในลักษณะของการห่อลิ้น (Retroflex) ที่เกิดปลายลิ้นกับเพดานแข๊งเวลาเปล่งเสียง ปลายลิ้นแตะกับเพดานแข๊งปิดกระแสลมไว้ เมื่อเปล่งเสียออกมาลมจะออกมาทางช่องแคบระหว่างปลายลิ้นกับเพดานแข๊ง นี่คือเสียงที่แท้จริงของคำๆนี้ (ลองทำปากลักษณะนี้เวลาออกเสียงคำว่า “เจิง” นะครับ นั่นล่ะเสียงของคำนี้)
โอเค ต่อกันเลย เครื่องดนตรีนี้เรียกกันหลายชื่อตามสำนวนภาษาของแต่ละท้องถิ่นเช่นชาวจีนแต้จิ๋วเรียก “โกวเจ็ง” หรือ “เจ็ง” คนไทยเรียก “เจ้ง” “เจิง” “กู่เจิง” หรือ “จะเข้จีน” “พิณจีน” ส่วนภาษาจีนกลางหรือชาวจีนแผ่นดินใหญ่เรียก “กู่เจิง” หรือ “เจิง” แต่ตามความเป็นจริงแล้วเครื่องดนตรีชนิดนี้มีชื่อเรียกเพียงพยางค์เดียวคือ 箏 เจิง ส่วนคำว่า กู่ เป็นคำขยายในภาษาจีนหมายถึงสิ่งที่เก่าแก่โบราณ ดังนั้นถ้าจะเรียกตามสำนวนภาษาไทยให้มีความหมายแล้วชื่อของเครื่องดนตรีชนิดนี้ควรจะเรียกว่า “พิณจีนโบราณ” ที่เรียกว่าพิณจีนโบราณเพราะเครื่องดนตรีนี้มีมานานแสนนานตั้งแต่รุ่นก่อนประวัติศาสตร์หรือก่อนการก่อเกิดกำแพงเมืองจีนด้วยซ้ำไป
古箏 กู่เจิง
ขอบคุณครับสำหรับการติดตามอ่านต่อ ซึ่งแมคเองก็อยากให้เพื่อนที่เข้ามาอ่านได้ทราบรายละเอียดของเครื่องดนตรีชนิดนี้กันจริงๆนะครับ ซึ่งบทความนี้แมคได้เคยเขียนลงที่ Bloggang ไว้นานแล้วเหมือนกัน วันนี้เลยเล่นง่ายๆเอามาแปะให้อ่านกันเลยทีเดียว ^_^ ต่อกันเลยครับ
- ประวัติความเป็นมา
ตามหลักฐานเล่าสืบต่อกันมาได้กล่าวว่า กู่เจิงได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นเครื่องดนตรีในยุคสมัยของ 秦始皇 (Qín Shĭ Huáng, จิ๋นซีฮ่องเต้ พฤศจิกายน หรือ ธันวาคม พ.ศ. ๒๘๓ (๒๖๐ ปีก่อนคริสต์กาล) และสวรรคตเมื่อ กันยายน พ.ศ. ๓๓๓ (๒๑๐ ปีก่อนคริสต์กาล) โดยครั้งที่จักรพรรดิจิ๋นซีได้ขึ้นครองราชย์สถาปนาตนเองเป็นฮ่องเต้พระองค์แรกแห่งประวัติศาสตร์จีนและเริ่มแผ่ขยายมณฑลต่างๆเพื่อเป็นอาณานิคม ก็ได้ไปพบเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งเป็นเครื่องสายมีสายมากถึง ๕๐ เส้น แต่ด้วยความคิดของจักรพรรดิแห่งแค้วนฉินพระองค์นี้ที่ทุกคนทราบดีอยู่ว่า ถ้าตีเมืองไหนสำเร็จไม่ว่าจะเป็นหลักฐานทางด้านความรู้, วัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองนั้นจะต้องถูกเผาทำลายราบคาบ เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นนั้นเรียน, พูด, ศึกษาแต่ภาษาและวัฒนธรรมของแค้วนฉินเท่านั้น จึงไม่ปรากฏหลักฐานภาพวาดหรือการจดบันทึกถึงเครื่องดนตรีที่มี ๕๐ สายเครื่องนั้นเลย และต่อมาจึงมีการสร้างเครื่องดนตรีลักษณะเดียวกันกับเครื่องดนตรีที่มี ๕๐ สาย แต่ลดขนาดลงมาเหลือเพียงแค่ ๒๕ สาย ที่เรารู้จักกันมาจนถึงปัจจุบันว่า กู่เจิง นั่นเอง
秦始皇 จิ๋นซีฮ่องเต้
สมัยก่อนนี้การฝังศพบุคคลสำคัญจะมีการนำสิ่งของเครื่องใช้ หรือของซึ่งเป็นที่รักนำใส่ลงไปในหลุมฝังศพด้วย และเมื่อไม่นานนี้ได้มีการขุดพบหลุมฝังศพของชนชั้นสูงสมัยโบราณของจีน และได้พบเครื่องดนตรีชนิดนี้อยู่ในหลุมฝังศพด้วย คาดการณ์จากอายุศพและสิ่งขอเครื่องใช้ในหลุมฝังศพนี้มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ปีซึ่งก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ีถึงอายุของเครื่องดนตรีกู่เจิงว่าอย่างน้อยก็ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ปีแน่นอน
ครบเซทครับ
เป็นที่เข้าใจกันว่าเครื่องดนตรี กู่เจิง นั้นมีเสียงที่ไพเราะ นุ่มนวล และพริ้วไหว จึงทำให้คนสมัยใหม่ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเครื่องดนตรีชนิดนี้นั้นเป็นเครื่องดนตรีของผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดมาตลอด (อาจจะเห็นจากหนังจีนมาจนชินตา) เพราะสมัยโบราณนั้นบุคคลที่จะมีความสามารถเล่นดนตรีได้นั้นจะอยู่แค่ในหมู่ของเหล่าผู้รู้หรือนักปราชญ์เป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ว่าใครอยากจะเล่นก็เล่นได้ เพราะเครื่องดนตรีชนิดนี้ต้องใช้ทักษะความสามารถชั้นสูงในการเล่น และแน่นนอนคนกลุ่มนี้ก็จะไม่พ้นกลุ่มเสนาบดี ข้าราชบริพาน หรือนักปราชญ์คงแก่เรียน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ (ผู้หญิงก็มีครับ สำหรับชนชั้นสูง) แต่สมัยนี้ใครๆก็สามารถเล่นได้เพียงแค่มีความพยายามความสามารถ + พรสวรรค์ (นิดหน่อย) และที่สำคัญก็คือ เงิน เพราะเครื่องดนตรีกู่เจิงระดับที่ดีๆแล้วราคาแพงมากๆ ม๊ากมาก มั่กๆๆๆๆ …
ตัวนี้ราคาแค่ “๗๐,๐๐๐ กว่าบาทเอ๊งงงง” สลบ…
จากเรื่อง 三國演義 (sān guó yăn yì, สามก๊ก ที่คนไทยรู้จัก) ได้กล่าวในช่วงหนึ่งถึง 諸葛亮 (Zhūge Liàng, จูกัดเหลียง ที่คนไทยรู้จัก) หรือ 孔明 (Kŏngmíng, ขงเบ้ง ที่คนไทยรู้จัก) ว่าขงเบ้งเล่นขิมนั้น แต่จากข้อสันนิษฐานแล้วน่าจะเป็นกู่เจิงมากกว่า ข้อสังเกตุน่าจะเกิดจากการผิดพลาดทางการแปลหลายมือต่อๆกันมา เพราะกล่าวว่าขงเบ้งเล่น คิ้ม (มาจากภาษาจีนสำเนียงอื่น เพราะสามก๊กที่เราคุ้นเคย ตัวละครทั้งหมดที่เราคุ้นเคยชื่อไม่ใช่สำเนียงจีนกลางเลยแม้แต่น้อย แมคก็ไม่รู้เขียนยังไงคำนี้) จึงนำมาเทียบเสียงกับไทยว่าน่าจะเป็นขิม (洋琴 Yáng qín) เพราะเสียงใกล้เคียงกันแต่ความพริ้วไหวแตกต่างมากๆ และที่สำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับยุคสมัยของขงเบ้ง (ค.ศ. ๑๘๑ — ๒๓๔) และความคู่ควรสำหรับนักปราชญ์สำหรับขงเบ้งแล้ว ต้องเป็นกู่เจิงเท่านั้น เพราะ 洋琴 Yáng qín หรือขิม สมัยนั้นเป็นเครื่องดนตรีระดับที่ชนชั้นชาวบ้านสามารถเล่นได้ทั่วๆไป ไม่ว่าจะตามที่พักหรือตามสถานบันเทิงต่างๆ
孔明 กับกู่เจิง
จากตำนานกล่าวกันว่า เมื่อสมัยก่อนนั้นครอบครัวชนชั้นสูงครอบครัวหนึ่งมีลูกสาว ๒ คน และพ่อของพวกเธอก็เป็นขุนนางชั้นสูงของราชสำนักได้มีกู่เจิง ๒๕ สายไว้ในครอบครอง กู่เจิงตัวนี้พิเศษตรงที่ว่าเคยถูกไฟไหม้ไป ๑ ครั้ง แต่แทนที่จะเสียหายไป กลับทำให้เสียงของกู่เจิงตัวนั้นก้องกังวานไพเราะกว่าเก่า จนทำให้เป็นที่ล่ำลือกันทั่วแค้วนถึงความไพเราะของกู่เจิงตัวนี้ และสุดท้ายเมื่อขุนนางท่านนี้ได้สิ้นชีวิตลงอย่างฉับพลันโดยไม่มีการสั่งเสียก่อนว่าจะมอบกู่เจิงนี้ให้แก่ใคร ดังนั้นจึงเกิด ศึกชิงกู่เจิง เล็กๆภายในครอบครัวกันเองระหว่างลูกสาว ๒ คนนั่นเอง ต่างคนก็ต่างยื้อยึดฉุดกระชาก (อาจจะมีลากถูนิดๆ) เอะอะโวยวายจนผู้เป็นแม่ ฟิวส์ขาด … เกิดความรำคาญเป็นล้นพ้น จึงได้เอาขวานด้ามถนัดมือ จามโชะ ผั่วะ!!! เข้าให้ที่เจ้ากู่เจิงตัวปัญหานี้ โช๊ะ!!! ผ่าง!!! ทำให้กู่เจิงตัวนี้แยกออกเป็น ๒ ส่วนในแนวยาว ด้านหนึ่งมี ๑๒ สายมอบให้เป็นมรดกแก่ผู้พี่ อีกซีกที่มี ๑๓ สายมอบเป็นมรดกให้แก่ผู้น้อง (หมดปัญหา) หลังจากหมดปัญหาแย่งชิงกันลงไป ผู้เป็นน้องก็จรลี & ชิ่ง เดินทางไปยังเกาะญี่ปุ่น และนี่เองคือตำนานของการเกิดเครื่องดนตรีโบราณของญี่ปุ่นอีก ๑ ชนิด นั่นก็คือ 箏 koto โกโตะ นั่นเอง (โกโตะมี ๑๓ สาย)
เจ้าถูกจามมาจริงๆหรือ ?
๑๓ สายจริงๆ นับๆ (รูปนี้ยังไม่ได้ตั้งหย่องนะครับ)
แต่งๆ แป๊งๆ แป่วๆ
- ลักษณะของกู่เจิง
ลักษณะของกู่เจิงโดยกายภาพจะแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน
๑. ส่วนบนสุด ที่เป็นเส้นเสียงจะเชื่อกันว่าเป็นแดนสวรรค์เป็นส่วนกำเนิดเสียงสวรรค์ เส้นสายพาดจากซ้ายไปขวาเปรียบเสมือนท้องฟ้าอันกว้างไกล แนวหย่องเรียงรายประดุจขุนเขาไกลโพ้น
มองจากด้านบน
๒. ส่วนพื้นของตัวกู่เจิง เชื่อกันว่าเป็นแม่น้ำมหาสมุทร โดยมีขอบเป็นโลกมนุษย์
ด้านใต้ของกู่เจิง
๓. ด้านล่าง คือแดนบาดาล จะมีช่อง ๒ ช่องประดุจสระหงส์และวังมังกร
สายของกู่เจิง สมัยโบราณนิยมใช้เอ็นในการขึงสาย ปัจจุบันมักใช้สายทองเหลือง โลหะ เหล็ก หรือสายเอ็นที่หมุนควั่นเกลียวโดยรอบด้วยวัสดุสังเคราะห์
รูไหนวังมังกร รูไหนสระหงส์
ในปัจจุบันนี้ไม่มีการกำหนดจำนวนสายที่แน่นอนสำหรับกู่เจิง สายมากน้อยขึ้นอยู่กับความถนัดและลูกเล่นของแต่ละบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ที่ ๑๙ – ๒๕ สาย ตามความเหมาะสมของผู้เล่น ซึ่งอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้
- ลักษณะการเล่น
การเล่นมี ๕ ลักษณะในการบรรเลงโดยแบ่งออกตามธาตุอันเป็นที่เชื่อถือของคนจีนคือ
๑. การเล่นแบบธาตุดิน
เป็นการเล่นลักษณะดีดควบ อาจจะเป็นตัวโน้ตเดียวกัน แต่ดีดควบสายเพื่อให้เสียงออกมาหนักแน่น (นึกภาพออกไหม ?)
๒. การเล่นแบบธาตุน้ำ
เป็นการกวาดเสียง โดยใช้นิ้วมือหรือปิ๊กก็ได้ เป็นการดีดเพื่อแสดงความพริ้วไหวแสดงอารมณ์ของสายน้ำ สายฝน หรือสายลม ซึ่งเสียงการดีดลักษณะนี้ยากที่จะหาเครื่องดนตรีอื่นใดเลียนแบบความพริ้วได้เหมือน
๓. การเล่นแบบธาตุทอง
เป็นการดีดไล่เสียงคนละขั้นเสียงเพื่อเป็นการแสดงความก้องกังวาน เรียกง่ายๆคือการดีดแบบลูกไล่เปรียบประดุจเสียงก้องกังวานของโลหะ (โลหะและทองคือธาตุเดียวกัน)
๔. การเล่นแบบธาตุไฟ
คือการดีดรัวลักษณะกรอเส้นเสียง อาจจะเส้นเดียวหรือหลายเส้นในเวลาเดียวกันก็ได้ เปรียบเสมือนยามเปลวไฟต้องสายลม
๕. การเล่นแบบธาตุไม้
เป็นลักษณะการดีดหลักๆของกู่เจิงและดนตรีลักษณะดีดทุกประเภท คือการดีดไล่โน้ตไปตามท่วงทำนองของดนตรี ส่วนนี้คือส่วนหลักในการดำเนินทำนองและอารมณ์ของเพลง
ปิ๊ค หรือ เล็บปลอม ใส่เพื่อให้เสียงที่ชัดเจนขึ้น
เพลงแต่ละเพลงสามารถดีดได้ตามลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถของผู้เล่นว่าจะสามารถใส่ลักษณะการเล่นกี่แบบลงไปในเพลงที่บรรเลงได้ อาจจะมีทั้ง ๕ ลักษณะเลยใน ๑ เพลงเลยก็ได้ (แสดงความเก๋าไงล่ะ)
ประการแรกในการเล่นนั้นทำความเข้าใจก่อนว่า กู่เจิงมีเสียงจากเส้นสายคือ โด เร มี ซอล และ ลา ตามลำดับ (Pentatonic Scale) ส่วนเสียง ฟา และ ที นั้นจะเกิดได้โดยการดีดสายและกดเส้นสายที่พาดหย่องเพื่อกำเนิดเสียง ฟา และ ที มือขวาเล่นโน้ตหลัก มือซ้ายดีดคอร์ด
ตัวนี้ราคาแค่ “๖๒,๐๐๐” กว่าบาทเอ๊ง… เอ๋งๆๆๆๆๆ
ผู้ที่สนใจจะเล่นนะครับ ลองๆเดินสอบถามราคาได้ที่เยาวราชตามร้านเครื่องดนตรีจีนโบราณซึ่งสมัยนี้ก็มีขายกันพอสมควรแล้ว ราคาน่าจะอยู่ที่ ๑๐,๐๐๐ – ๒๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป (แมคไม่แน่ใจ) อย่าดูราคาใต้รูปที่แมคนำเสนอแล้วถอดใจในราคา เพราะที่เอามาให้ดูนั่นคือกู่เจิงระดับคนรวยเขาซื้อหามาใช้กันครับ และแน่นอนการเรียนเราก็ต้องมีครูใช่มะ ? แมคไม่รู้นะว่าที่ไทยคิดราคากันเท่าไหร่เคยสอบถามราคาที่ไทเปแปลงเป็นเงินไทยแล้ว ราคามาตรฐานชั่วโมงละ ๕๐๐ – ๑,๐๐๐ บาทเองเป็นอย่างต่ำ (เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ๕๐๐ เองเหรอ? ๑,๐๐๐ เองเหรอ!!!) กว่าจะเล่นเป็นหมดไปเท่าไหร่กดเครื่องคิดเลขกันเอาเองครับ แต่แนะนำว่าถ้าอยากได้เครื่องดนตรีที่ดีคุณควรสร้างพันธมิตรก่อน (ไม่จำเป็นต้องกู้ชาติ) เป็นอันดับแรก อาจารย์ของคุณอาจจะช่วยสั่งซื้อกู่เจิงตัวงาม made in china มาให้คุณเลือกสรรตามกำลังเงินได้ครับ
หย่องและเส้นสายของกู่เจิง
————————————————————-
สุดท้ายนี้ (จะจบละ) แมคนำบทเพลง ๓ เพลงมาฝากครับ ซึ่งบทเพลงทั้ง ๓ บทเพลงนี้ ๒ บทเพลงแรกถือว่าเป็นเพลงขั้นสูงสำหรับการเล่นในระดับอัจฉริยะ (ถ้าเล่นได้ดี)
บทเพลงแรก 彝族舞曲
彝族舞曲 (yí zú wŭ qŭ) แมคเชื่อว่าหลายๆคนคงคุ้นกับเพลงนี้แน่ๆล่ะ เพลงนี้ในชื่อภาษาไทยคือ “ระบำเผ่าอี้” เป็นเพลงที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ อัครราชกุมารี ทรงเลือกใช้ในการบรรเลงในการแสดงดนตรีไทย-จีน สายสัมพันธุ์สองแผ่นดิน โดยมี อาจารย์หลี่ หยาง เป็นพระอาจารย์ผู้ฝึกสอน ใช้ทักษะการเล่นขั้นสูงครบ ๕ ชนิดใน ๑ เพลง เป็นเพลงที่เหล่านักกู่เจิงระดับสูงนิยมนำมาบรรเลง ผู้แต่ง, ผู้เล่นเพลงนี้ และประวัติแมคไม่สามารถหามาได้ ต้องอภัยผู้แต่งบทเพลงนี้ และผู้เล่นเพลงนี้อย่างสูงครับ
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
บทเพลงที่สอง 戰颱風
戰颱風 (zhàn tái fēng) แปลเป็นไทยว่า “สู้พายุ” (ไต้ฝุ่น ต้องไต้ฝุ่นด้วยนะเพราะ 颱風 แปลว่าพายุไต้ฝุ่น) เพลงนี้สุดยอดครับ เป็นเพลงเอกอีกเพลงที่หลายศิลปินจะหยิบมาบรรเลงเพื่อแสดงความเก๋า อ่านชื่อเพลงนะครับ “สู้พายุ” แล้วลองฟังเสียงการบรรเลง จะเป็นไปตามสถานะการณ์ ทั้งเสียงพายุพัด เสียงหยดน้ำ และบรรยากาศหลังพายุสงบ และพายุกลับมาอีกครั้ง ลักษณะการเล่นระดับเซียนครับ แมคว่าเทคนิดการเล่นเกิน ๕ อย่างนะ เพราะอลังการมากๆ เพลงนี้แต่งโดย 王昌元 (Wáng Chāngyuán) ในปี ค.ศ. ๑๙๖๕ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากครั้งที่พายุไต้ฝุ่นพัดเข้าฝั่งที่เซี่ยงไฮ้ ปัจจุบัน 王昌元 ก็ยังคงเป็นนักกู่เจิงแนวหน้าของโลก คาราวะเลยครับ เสียงฝนตก หยดน้ำทำเอาแมคอึ้งไปเลย
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
บทเพลงที่สาม ลาวดวงเดือน
ลาวดวงเดือน ครับ เพลงนี้ทรงพระนิพนธ์โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม พระนามเดิม พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล “เพ็ญพัฒน์” ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมเพลงนี้กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมทรงตั้งชื่อว่า เพลงลาวดำเนินเกวียน แต่เนื่องจากเนื้อร้องมีคำว่า “ดวงเดือน” อยู่หลายตอน ทำให้ผู้ฟังเรียกผิดเป็น ลาวดวงเดือน เพลงนี้บรรเลงโดย อาจารย์อภิชัน พงษ์ลือเลิศ ท่านได้นำบทเพลงไทยที่คุ้นหูมาบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีกู่เจิงได้อย่างลงตัวและไพเราะมากๆ และยังมีบทเพลงจีนที่คนไทยคุ้นหูรวมอยู่ในอัลบั้มนี้ด้วยครับ ถ้าชอบลองหาๆซื้อกันฟังดูนะครับ (แมคไม่มีแจก อิอิ)
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
ยังมีเครื่องดนตรีโบราณของจีนที่น่าสนใจอยู่อีกครับ จริงๆแมคอยากจะเขียนเรื่อง 琵琶 (Pípá) ผีผา ไว้ด้วย แต่ด้วยที่ข้อมูลยังไม่มีมากเท่าไหร่เลยเอาไว้ก่อนดีกว่า วันนี้คงจบเรื่อง 古箏 เสียงพิณจากแดนสวรรค์ ไว้เท่านี้ครับ ข้อมูลทั้งหน้านี้ใช้เวลารวบรวมและศึกษาอยู่วันละนิดๆหน่อยๆ แต่มานั่งเขียนจริงๆใช้เวลาเกือบ ๑ วันเต็มๆ เหนื่อยมั่กๆ แต่เขียนเสร็จนานหลายอาทิตย์ละครับวันนี้ได้ฤกษ์เอามานำเสนอ ก็ถือว่าเป็นความรู้รอบตัวที่นำมาแบ่งปันครับ
เอ่อ… ไม่เกี่ยวอะไรกับกู่เจิง แค่จะบอกว่าแมคมีตุ๊กตาหินเซทนี้เฉยๆ ๒ ตัว
- ขอบคุณ Wikipedia, the free encyclopedia ข้อมูลอ้างอิงเพื่อเสริมในบทความนี้
- ขอบคุณ Sound of China รูปประกอบในบทความนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง
Comments

คำค้นกู่เจิง, พิณจีนโบราณ, ลาวดวงเดือน, 古箏, 彝族舞曲, 戰颱風, 箏 |
บทความที่เกี่ยวข้อง

วันอังคาร 17 มีนาคม 2009 เวลา 17:07
พิณยี่สิบห้าสาย เรียกว่าเส้อครับ
ยุคนั้นเจิงมีแค่เก้าสาย
ที่ขงเบ้งเล่นบนกำแพงเรียกว่ากู่ฉินครับ
ฉิน(琴) ถ้าปรากฎในตำราโบราณ จะหมายถึงกู่ฉิน ไม่ใช่ขิม
ส่วนเจิงสิบสามสาย คือเจิงสมัยถังครับ
ซึ่งญี่ปุ่นได้เอาไปใช้แล้วออกเสียงว่าโคโตะ
ปัจจุบันนี้การบรรเลงโคโตะยังคงสำเนียงดนตรีราชสำนักถังอยู่
และไม่ได้เกิดจากการผ่าเส้อยี่สิบห้าสายแต่อย่างใด
วันพฤหัสบดี 30 เมษายน 2009 เวลา 14:15
:angel: เพลงสู้พายุหนุกมาก ชอบอ่ะนะ :happy:
วันพฤหัสบดี 30 เมษายน 2009 เวลา 14:21
:happy: เพลงสู้พายุเยี่ยมมมากมาย ชอบๆๆ
วันพฤหัสบดี 30 เมษายน 2009 เวลา 14:22
หนุกๆๆๆ
วันพุธ 6 พฤษภาคม 2009 เวลา 20:37
วันนี้โชคดีมากๆที่ได้มีโอกาสเปิดโลกดนตรีแล้วมาพบเสียงสวรรค์ของกู่เจิ้งและมวลหมู่สาระความรู้
ขอขอบคุณแทนผู้ชื่นชอบอีกหลายๆล้านคน ยอดเยี่ยมมาก ถ้ามีโอกาสนำดนตรี ผีผา มาฝากด้วยน๊า
นั่นล่ะ…..จะยิ่งใหญ่…สุดยอด :wub:
วันพุธ 6 พฤษภาคม 2009 เวลา 22:02
จากคนเดินทางเหมือนว่าจะผ่านไป แต่กระไรหนา
นั่งหลับตาฟังเพลงอันแสนไพเราะท่ามกลางสายลม
ที่พัดมาเบาๆ รอบข้างคือความมืดที่เห็นแสงไฟอยู่ใกลๆ
ลืมไปว่า…กำลังฟังอยู่หน้าคอมมาเป็นชั่วโมง..
ทำงานมาเหนื่อยๆแล้วได้ฟังอย่างนี้…หลับสบาย
ขอบคุณอีกครั้ง… 🙂 🙂
แมค
พฤษภาคม 9th, 2009 | 01:20
@อึ้งไท่, สวัสดีครับ :happy: เสียงกู่เจิงเป็นเครื่องดนตรีที่พริ้วมากๆชนิดหนึ่งเลยครับ ยิ่งถ้ามีความสามารถเล่นได้ด้วยแล้วเป็นอะไรที่สุดๆจริงๆครับ ขอบคุณครับที่เข้ามาเยี่ยมชม 🙂
วันอาทิตย์ 10 พฤษภาคม 2009 เวลา 00:52
🙂 และแล้ว…..เราก็ต้องตามหามาจนเจออีกครั้ง…เพราะเสียงเพลงอันไพเราะ
ยังตรึงอยู่ในความทรงจำไม่ยอมหนีหายไปไหน…สมองสั่งบอกให้เก็บไว้สิครั้ง
ต่อไปไม่ต้องหาแล้ว แค่กระพริบตาก็ได้ฟัง…ท่ามกลางความมืดแต่มี
พระจันทร์สว่าง..ลมพัดพริ้วๆยอดไม้หวิวไหว ดอกแก้วออกดอกสะพรั่งหอมกรุ่น
ปิดไฟฟ้า เอนตัวลงนอนบนหมอนนุ่มๆ ฟังเสียงดนตรีคลอเคล้าไปเรื่อยๆ….
ขอบคุณผู้นำเสียงเพลงนี้มาฝาก ขอให้ท่านมีสติปัญญาดั่งเสียงดนตรีนี้ตลอดไป… :sleeping:
วันจันทร์ 15 มิถุนายน 2009 เวลา 20:56
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ และเพลงเพราะๆค่ะ
เป็นคนหนึ่งที่ชอบกู่เจิงมาก :heart: เพราะได้มีโอกาสเรียนกู่เจิงกับเหล่าซือโจว ซึ่งสอนดีมากๆ :wub:
วันศุกร์ 17 กรกฎาคม 2009 เวลา 22:30
เพราะมากครับ
วันศุกร์ 17 กรกฎาคม 2009 เวลา 22:31
อยากได้ เสียงพิณอย่างนี้ไว้ฟัง
วันจันทร์ 14 กันยายน 2009 เวลา 15:02
ขอบคุนค่ะสำหรับข้อมูลค่ะ
ช่วงนี้กำลังหาข้อมูลสำหรับการทำรายงานอยู่พอดี
ต้องขออนุญาตนำข้อมูลออกไปใช้นะค่ะ
ขอบคุนค่ะ
วันพฤหัสบดี 24 กันยายน 2009 เวลา 15:41
จะหาเสียงสวรรค์แบบฟรีๆได้ที่ได้ที่ไหนครับ…แบบว่าโหลดฟรีอ่ะครับ ชอบมากชอบหนังจีนที่บรรเลงแบบนี้อ่ะ
บังเอิญว่าบ้านอยู่ติดภูเขาอ่ะครับ หนทางไกลแสนไกล ถ้าได้เสียงบรรเลงเพราะๆ แบบนี้คงได้บรรยากาศมากเลยครับ อิอิ 🙂
วันอังคาร 16 มีนาคม 2010 เวลา 13:38
ขอเสริมอีกแรงครับ ข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับแฟนกู่เจิง http://www.thaichinese.net/thaichineseblog/guzheng-history/
วันอาทิตย์ 8 พฤษภาคม 2011 เวลา 19:26
อยากโหลดๆๆๆคร๊าๆๆ ^^ มีให้โหลดมั๊ยคร๊าๆๆหามะเจอๆๆ ^^ 🙂
วันศุกร์ 4 พฤศจิกายน 2011 เวลา 10:42
เครื่องดนตรีกู่เจิง ถ้าเปรียบเทียบกับเครื่องดนตรีไทยจะมีลักษณะหรือวิธีการเล่นคล้ายเครื่องดนตรีไทยชินใดมากที่สุดค่ะ
Fiyero
พฤศจิกายน 4th, 2011 | 16:05
@สายวริน พินทอง, จริงๆก็ไม่คล้ายเลยนะครับ แต่ถ้าใกล้ๆกันก็คงจะเป็นจะเข้ครับ